โครงการที่ 4 โครงการ e-Payment ภาครัฐ

เป็นการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม และเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการส่งเสริมการรับจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้มีฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับสวัสดิการของภาครัฐ ควบคู่กับการจ่ายเงินให้แก่ประชาชนโดยตรงผ่าน Any ID โดยการใช้เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน รวมทั้งให้สถาบันการเงินเป็นช่องทางการจ่ายเงินและเก็บข้อมูลจากประชาชน ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินสวัสดิการให้แก่ประชาชนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ลดความผิดพลาด ลดความซ้ำซ้อน และลดการทุจริตจากการจ่ายเงินด้วยเงินสดและเช็ค ด้วยการลงทะเบียนประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อรับสวัสดิการผ่านสถาบันการเงิน โดยโครงการ e-Payment ภาครัฐ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
(1) โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม และ
(2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์

1) โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางให้ภาครัฐสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือและสวัสดิการให้แก่ประชาชนถูกกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ ปัจจุบันหน่วยงานของภาครัฐซึ่งเป็นเจ้าของฐานข้อมูลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ หลายหน่วยงานยังไม่มีการจัดเก็บฐานข้อมูลประชาชนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือมีแต่ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งต้องใช้ระยะเวลาปรับปรุงระบบฐานข้อมูลและยังมีปัญหาอุปสรรคด้านข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้การจ่ายเงินสวัสดิการต่าง ๆ หรือผู้ที่ได้รับเงินสวัสดิการได้รับเงินล่าช้า หรือได้รับเงินแต่ได้รับไม่เต็มจำนวน ปัญหานี้เกิดจากการที่รัฐบาลไม่มีฐานข้อมูลประชาชน ทำให้ผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ตรงตามความต้องการ หรือได้รับแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้น รัฐบาลจึงจัดทำโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมขึ้น เพื่อให้ภาครัฐสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือและสวัสดิการให้แก่ประชาชน ได้โดยตรง ถึงมือประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถูกกลุ่มเป้าหมาย ไม่เกิดความซ้ำซ้อน ลดข้อผิดพลาด และรัฐยังนำผลที่ได้มาประเมินเพื่อจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น

2)  โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทาง               การให้บริการรับชำระเงินค่าบริการจากประชาชนให้กับส่วนราชการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรับชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินของหน่วยงานภาครัฐ ให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว สามารถส่งเงินถึงผู้รับได้โดยตรง ลดความซ้ำซ้อน โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ลดโอกาสการทุจริต และสามารถติดตามตรวจสอบได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลให้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินโดยรวมของประเทศ ซึ่งการดำเนินงานแบ่งเป็น ดังนี้

                   2.1)  การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและนำส่งเงินภาครัฐ มีแนวทาง ดังนี้

  • ส่งเสริมให้ส่วนราชการต่าง ๆ สามารถรับชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างคล่องตัว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ชำระเงินที่จะชำระค่าบริการต่าง ๆ กับภาครัฐ ทั้งประชาชนและผู้ค้ากับภาครัฐจะมีทางเลือกชำระค่าบริการต่าง ๆ เช่น ATM , Internet Banking , Bill Payment ให้แก่ส่วนราชการมากขึ้น
  • พัฒนาระบบให้รองรับการนำเงินส่งคลังแทนการนำเงินส่งคลังด้วยเงินสดและเช็คคลังด้วยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของกรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังจังหวัด ผ่านระบบ GFMIS
  • สำหรับหน่วยงานที่ยังไม่มีระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ในการรับชำระเงิน และมีการรับชำระเงินในแต่ละปีจำนวนไม่มาก จะมีการพัฒนาระบบกลางรับเงินและนำเงินส่งคลังด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment Portal of Government) มารองรับ

                   2.2)     การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกและจ่ายเงินภาครัฐ มีแนวทาง ดังนี้

  • ส่งเสริมให้ส่วนราชการต่าง ๆ สามารถจ่ายเงินได้อย่างคล่องตัวขึ้น ด้วยการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตราชการและบัตรจัดซื้อ รวมทั้ง การจ่ายเงินของส่วนราชการให้ข้าราชการและบุคคลภายนอกด้วยวิธีโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร
  • กรมบัญชีกลางจะจ่ายตรงให้แก่ผู้ค้า (Vender) กับภาครัฐ (GFMIS Direct Payment) โดยการโอนเงิน ด้วย Any ID
  • พัฒนาระบบ GFMIS ให้กรมบัญชีกลางสามารถจะโอนเงินอุดหนุนทั่วไป ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีล้อเลื่อนตรงให้แต่ละ อปท. (GFMIS Direct Payment)
  • พัฒนาการจ่ายเงินให้ส่วนราชการด้วยวิธีโอนเงินผ่านระบบการจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง โดยคาดว่าจะจ่ายตรงครบทุกส่วนราชการภายในเดือนกันยายน 2559
  • หลังจากที่มีการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ สวัสดิการเด็กแรกเกิด และเงินช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว กรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าวผ่านระบบการชำระเงินแบบ Any ID โดยใช้เลขบัตรประชาชน หรือหมายเลขอื่นใดของผู้มีสิทธิเป็นการระบุผู้รับเงิน ในการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของภาครัฐไปยังบัญชีธนาคารของประชาชน เพื่อนำร่องการจ่ายเงินสวัสดิการบางประเภทที่มีข้อมูลพร้อม โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เชื่อมโยงฐานข้อมูล คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณเดือนกันยายน 2559
  • พัฒนาระบบเพื่อให้ข้าราชการผู้ประสงค์ขอเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น สามารถส่งคำขอเบิกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form) และกรมบัญชีกลางจะโอนเงินตรงเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของข้าราชการผู้ที่ขอเบิก คาดว่าจะเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2559

เป้าหมายการดำเนินงานปี 2559

(1) โอนเงินสวัสดิการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ในเดือนกันยายน 2559
(2) จ่ายเงินให้ส่วนราชการด้วยวิธีโอนเงินผ่านระบบการจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง โดยจะจ่ายตรงครบทุกส่วนราชการ ในเดือนกันยายน 2559
(3) ส่งเสริมการรับ-จ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายในเดือนธันวาคม 2559
(4) ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ นำส่ง และเบิกจ่ายเงินของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2559

ประโยชน์ที่จะได้รับ

(1) ประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับสิทธิตามที่ควรได้รับ ในขณะที่ภาครัฐมีฐานข้อมูลกลางของประชาชนที่ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน สามารถบริหารจัดการเงินช่วยเหลือได้ตรงตามวัตถุประสงค์ มั่นใจว่าจะถึงมือประชาชนอย่างถูกต้อง และลดโอกาสเกิดการทุจริต ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการเงินสวัสดิการได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสยิ่งขึ้น
(2) ช่วยยกระดับวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และบริการ e-Payment ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยค่าใช้จ่าย ที่เหมาะสม ทำให้การโอนเงินและการชำระเงินของประชาชนสามารถทำได้โดยง่าย โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกเหนือจากเลขบัญชีเงินฝากธนาคาร และสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ได้โดยง่ายและสะดวกขึ้น
(3) การเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้คุ้นเคยกับการใช้วิธีการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสดมากขึ้น จะทำให้ร้านค้าต่าง ๆ เข้าสู่ระบบ e-Payment ได้เร็วขึ้น
(4) การเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ภาครัฐบริหารจัดการเงินงบประมาณได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถส่งเงินถึงผู้รับได้โดยตรง และทำให้กระบวนการรับส่งเงินของภาครัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ลดโอกาสการทุจริต